เมนู

สงฆ์และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลาย
เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิต
ของบุคคลนั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะ
เหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึง
คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึง
ประกอบเนื่อง ๆ ซึ่งศรัทธา ศีล ความ
เลื่อมใส และความเห็นธรรมเถิด.


อรรถกถาทฬิททสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในทฬิททสูตรที่ 4 ต่อไปนี้ :-
บทว่า มนุสฺสทฬิทฺโท คือ คนขัดสน. บทว่า มนุสฺสกปโณ
คือ ถึงความเป็นมนุษย์ควรกรุณา. บทว่า มนุสฺสวราโก คือเป็นคนเลว.
บทว่า ตตฺร แปลว่า ในที่นั้น . หรือในความรุ่งเรื่องนั้น. บทว่า อุชฺฌายนฺติ
แปลว่า เพ่งโทษ ได้แก่ คิดเเต่ความลามก. บทว่า ขิยฺยนฺติ คือประกาศ.
บทว่า วิปาเจนฺติ คือพูดเปิดเผยในที่นั้น ๆ. ในบทนี้ว่า เอโส โข มาริส
มีอนุปุพพีกถาดังต่อไปนี้
ได้ยินว่า เทวบุตรนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ ได้เป็น
พระเจ้ากรุงพาราณสี ในแคว้นกาสี ทรงกระทำประทักษิณพระนคร ซึ่งยกธงชัย
และธงแผ่นผ้าขึ้น ประดับด้วยเครื่องประดับพระนครอย่างดี ด้วยสิริสมบัติ
ของพระองค์ อันฝูงชนจ้องมองเป็นตาเดียวกัน. ก็สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า
องค์หนึ่ง มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ถึงพร้อมด้วยการฝึกตนอย่างดี มาจาก

เขาคันธมาทน์ เที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองนั้น. ฝ่ายมหาชน ละความยำเกรง
พระราชา มองดูพระปัจเจกพุทธเจ้าอย่างเดียว. พระราชาทรงดำริว่า เดี๋ยวนี้
ในหมู่ชนนี้ แม้คนหนึ่ง ก็ไม่มองดูเรา นี่เรื่องอะไรกัน เมื่อมองดู ก็เห็น
พระปัจเจกพุทธเจ้า. พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้นั้นก็ชราอายุมาก. แม้จีวรของทาน
ก็คร่ำคร่า. เส้นด้ายห้อยย้อยจากที่นั้น ๆ. พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระ-
ปัจเจกพุทธเจ้า ผู้บำเพ็ญบารมีมาตลอดสองอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป. เพียงจิต
เลื่อมใส หรือเพียงยกมือไหว้ก็ไม่มี. พระราชานั้น ทรงโกรธว่า ผู้นี้เห็นจะ
เป็นนักบวชไม่มองดูเราด้วยความริษยา ทรงดำริว่า นี่ใครห่มผ้าขี้เรือนแล้ว
ทรงถ่มเขฬะเสด็จหลีกไป. ด้วยวิบากของกรรมนั้น พระราชา จึงไปเกิดใน
มหานรก ด้วยวิบากที่เหลือ มาสู่มนุษยโลก ถือปฏิสนธิในครรภ์ของหญิงที่
ยากจนข้นแค้น ในกรุงราชคฤห์. ตั้งแต่เวลาที่ถือปฏิสนธิ หญิงนั้น ไม่ได้
อาหารเต็มท้องเพียงน้ำข้าว. เมื่อทารกนั้นอยู่ในห้อง หูและจมูกแหว่งวิ่น.
เมื่อเด็กออกจากท้องมารดา เป็นโรคเรื้อน มีผมหงอกขาวโพลน. ชื่อว่า
มารดาบิดาเป็นผู้กระกำลำบาก. ด้วยเหตุนั้น มารดาของทารกนั้น ได้นำ
น้ำข้าวบ้าง น้ำบ้างให้แก่ทารกตลอดเวลาที่ไม่สามารถจะถือกระเบื้องเที่ยวไปได้
ก็เมื่อถึงคราวที่ทารกนั้น สามารถเที่ยวขอทานได้ มารดา จึงมอบกระเบื้อง
ให้ในมือกล่าวว่า เจ้าจักรับผิดชอบตามกรรมของตนแล้วหลีกไป. ตั้งแต่
นั้นมา เนื้อของทารกนั้นขาดไปจากตัวทั่วทั้งร่างกาย. น้ำเหลืองก็ไหล.
ได้รับเวทนาหนัก. อาศัยตรอกนอนร้องโหยหวนตลอดคืน. ด้วยเสียงปริเทวนา
น่าสงสารของเด็กนั้น พวกมนุษย์ในทุกถนนไม่ได้นอนตลอดคืน. ตั้งแต่
นั้นมา เขาจึงมีชื่อว่า สุปปพุทธะ เพราะอรรถว่า ทำคนนอนสบายให้ตื่น.

ครั้นสมัยต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จถึงกรุงราชคฤห์
ชาวเมืองนิมนต์พระศาสดาสร้างมหามณฑป ท่ามกลางพระนคร ได้พากัน
ถวายทาน. แม้นายสุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อนก็ได้ไปนั่ง ณ ที่ใกล้โรงทาน
ชาวเมืองอังคาสพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยของเคี้ยวของฉัน
อันประณีต ได้ให้ข้าวยาคู และภัตรแก่สุปปพุทธะบ้าง. เมื่อสัปปพุทธะบริโภค
โภชนะอันประณีตแล้ว ก็มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง. ในที่สุดภัตกิจ พระศาสดา
ทรงกระทำอนุโมทนาแล้ว ทรงแสดงสัจธรรม. นายสุปปพุทธะนั่งในที่ที่ตน
นั่งนั้น เมื่อจบเทศนาส่งญาณไปตามกระแสของเทศนา ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
พระศาสดาทรงลุกขึ้นเสด็จไปสู่พระวิหาร. แม้นายสุปปพุทธะนั้น ก็สวมรองเท้า
มีเชิงถือกระเบื้อง ยันไม้เท้าไปที่อยู่ของตน ถูกแม่โคขวิดตาย ไปบังเกิดใน
เทวโลกในวาระจิตที่สอง ดุจทำลายหม้อดินแล้วได้หม้อทองคำอาศัยบุญของตน
จึงรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น. ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อจะแสดงถึงเหตุนั้น
จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เอโส มาริส ดังนี้. บทว่า สทฺธา ได้แก่ ศรัทธา
อันมาแล้วโดยมรรค. บทว่า สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ ได้แก่ กัลยาณศีล
ที่ท่านกล่าวว่า อริยกันตศีลของพระอริยสาวก. ในลำดับนั้น ศีลแม้ข้อหนึ่ง
ของพระอริยสาวก ชื้อว่า ไม่น่าใคร่ ย่อมไม่มี ก็จริง ถึงดังนั้น ในความ
นี่ท่านประสงค์เอาเบญจศีลที่ไม่ละแม้ในภพต่าง ๆ.
จบอรรถกถาทฬิททสูตรที่ 4

5. รามเณยยกสูตร



ว่าด้วยภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์



[920] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นแล้วทรงถวายบังคมแล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ประทับ
เรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สถานที่เช่นไรหนอ เป็น
ภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์.
[921] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
อารามอันวิจิตร ป่าอันวิจิตร สระ
โบกขรณีที่สร้างอย่างดี ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่
16 อันแบ่งออก 16 ครั้ง แห่งภูมิสถาน
อันรื่นรมย์ของมนุษย์ พระอรหันต์ทั้งหลาย
อยู่ในที่ใด เป็นบ้านหรือป่าก็ตาม เป็น
ที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นเป็นภูมิสถาน
อันน่ารินรมย์.